วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หนองคาย แล้งจัดเขื่อนห้วยโมงเร่งบริหารจัดการน้ำผันน้ำโขงช่วยเกษตรกร

หนองคาย  แล้งจัดโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง  เร่งบริหารจัดการน้ำผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่  3  อำเภอ ก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อนาข้าว   วอนชาวนาให้ทำนาช่วงฤดูกาลครั้งเดียว  เพื่อประหยัดน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภค

                 วันนี้  ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง สำนักชลประทานที่ 5 อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย  ได้เร่งบริหารจัดการน้ำผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่อ่างเก็บน้ำห้วยโมง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยโมงให้เพียงพอต่อความต้องการในการอุปโภคบริโภค  พร้อมทั้งใช้สำหรับการเกษตร เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากสภาพปัญหาภัยแล้ง    โดยทางโครงการฯ ได้เดินเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง วันละ 16 ชั่วโมง ปริมาณสูบน้ำเข้าวันละ ประมาณ 200,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันทางโครงการฯได้ดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ากักเก็บในลำน้ำโมงแล้วกว่า 1.34 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะสามารถช่วยเกษตรกรได้อีกระดับหนึ่ง
             
ด้าน นายประละมา สิวาปี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง กล่าวว่า ปัจจุบันระดับน้ำในลำห้วยโมงอยู่ที่ระดับ 6 เมตร 77 เซนติเมตร ส่วนระดับแม่น้ำโขงอยู่ที่ 2 เมตร 83 เซนติเมตร ซึ่งลำห้วยโมงจะอยู่ระดับสูงกว่าแม่น้ำโขงอยู่ที่ 3 เมตร 94 เซนติเมตร ปริมาณน้ำในอ่าง 1,961 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้ทำการสูบน้ำโขงเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยโมง จำนวน 2 เครื่อง วันละ 16 ชั่วโมง ซึ่งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง จะสูบได้ 2,375 ล้านลูกบาศก์เมตร/วินาที รวมสูบน้ำได้ 273,600 ล้านลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยได้ทำการผันน้ำเข้าอ่างมาตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 58 เป็นต้นมา
              โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง มีสถานีสูบน้ำ 9 สถานี ควบคุมทั้งหมด 3 อำเภอ คือ อำเภอท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอโพธิ์ตาก มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 51,191 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรลดพื้นทำการปลูกข้าวลงอยู่ที่ 35,543 ไร่ คาดว่าน้ำที่สูบเข้าอ่างเก็บน้ำ จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งให้แก่เกษตรกรได้ตลอดหน้าแล้งนี้  และขอให้เกษตรกรทั้งในและนอกเขตบริการของชลประทาน  ขอให้ทำนาปลูกข้าวในฤดูกาลแค่ครั้งเดียว   เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับพื้นที่การเกษตรจากสภาพที่แล้งจัด และ เพื่อเป็นการประหยัดน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภคในคราวต่อไป