วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หนองคาย พิธีขอฝนแบบโบราณสวดมนต์คาถาปลาค่อ (ปลาช่อน)

หนองคาย   สภาพปัญหาภัยแล้งลุกลามจากฝนทิ้งช่วงมายาวนาน  ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างหนัก  ทนรอฝนตกตามฤดูกาลไม่ไหว  หวังพึ่งความเชื่อขอฝนแบบโบราณ ร่วมกันประกอบพิธีสวดมนต์คาถาปลาค่อ (ปลาช่อน)  เพื่อขอให้ฝนตกเพื่อบรรเทาภัยแล้ง   

ที่วัดสุจิณณาภิรมย์  ตำบลโคกคอน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย   ชาวบ้านร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลโคกคอน    ร่วมกัน จัดพิธีสวดมนต์คาถาปลาค่อ หรือปลาช่อน  ภายในพิธีกรรมครั้งนี้  จะมีการการจัดสถานที่จำลองสร้างเป็นสระน้ำ  มีบัว จอก แหน และนำปลาช่อน  ปลาสลิด  ปู  และหอย หรือสัตว์น้ำที่หาได้ในท้องถิ่น ปล่อยลงในสระนำมาประกอบพิธี  นอกจากนั้นที่ข้างสระน้ำจำลองจะมี รูปปั้นวัว  ควาย  และเต่ายืนกินน้ำข้างสระ  ด้านบนจะทำเป็นที่วางเครื่องบวงสรวง ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน กระทงใบตองบรรจุคำหมากพลู  หิน ทราย ข้าวสาร และข้าวเปลือก   โดยมีพระสงฆ์   9 รูป ทำพิธีสวดมนต์คาถาปลาช่อน ซึ่งทำการสวด 3 วัน ติดต่อกัน   ชาวบ้านที่ร่วมพิธีส่วนใหญ่สวมเสื้อสีขาว เพื่อร่วมกันอธิษฐานของฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีฝนมาตกนานนับเดือน ซึ่งถือเป็นประเพณีโบราณที่เชื่อว่าเมื่อประกอบพิธีดังกล่าวแล้ว ฝนจะตกภายใน 3 วัน


นายขวัญ  สมเพชร  อายุ 73 ปี  ชาวบ้านบ้านโคกคอน กล่าวว่า  พิธีกรรม สวดคาถาปลาค่อหรือปลาช่อน เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสาน   ที่มีความเชื่อตามพุทธตำนาน ว่าในอดีตพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพญาปลาค่อ หรือปลาช่อน อาศัยอยู่ในสระ  และมีสัตว์น้ำหลากหลายชนิดกำลังแหวกว่ายในสระที่ไม่มีน้ำทุกข์ทรมาณ    พระโพธิสัตว์จึงผุดขึ้นจากโคลน พร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอให้ฝนตก  
  ซึ่งฝนก็ตกตามที่หวัง  ทำให้บรรพบุรุษมีความเชื่อสืบทอดกันมาถึงปู่ย่าตายายของตน เมื่อแล้งจัดก็จะสวดคาถาปลาช่อนแล้ว ฝนก็จะตกทุกครั้ง   ซึ่งการสวดมนต์คาถาปลาช่อน ครั้งนี้  เนื่องจาก ชาวบ้านบ้านโคกคอนประสบปัญหาภัยแล้ง  ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักมากกว่าทุก ๆ ปี ที่ผ่านมา ทำให้เริ่มขาดแคลนน้ำบริโภคอุปโภค   ซึ่งปีที่ผ่านมาช่วงนี้จะมีฝนตกลงมาแล้ว   แต่ปีนี้ไม่มีฝนตกเลย  ทำให้รอคอยฝนตกไม่ไหว  จึงต้องหวังพึ่งความเชื่อพิธีขอฝนแบบโบราณ  นำพิธีสวดคาถาปลาช่อนของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา มาหารือกับชาวบ้านและอบต.โคกคอน ประกอบพิธีสวดมนต์คาถาปลาช่อน  3 วันติดต่อกัน เมื่อทำพิธีเสร็จก็จะนำสัตว์น้ำทุกชนิดที่นำมาประกอบพิธีไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ  เพื่อหวังให้ฝนตกลงมาตามความเชื่อเพื่อ บรรเทาปัญหาภัยแล้งที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้