วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หนองคาย เกษตรกรต้นแบบอำเภอเฝ้าไร่ปลูกไผ่เลี้ยงสร้างรายได้

                                
เกษตรกรหนุ่มหันมายึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปลูกไผ่เลี้ยงสร้างรายได้  พบความต้องการของตลาดและชาวบ้านในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เตรียมขยายพื้นที่ปลูกหวังมีรายได้วันละ 1,000 บาท ขณะที่อำเภอเฝ้าไร่ตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรกรต้นแบบ 

นายวสันต์ คำพระไมล์ เกษตรกรปลูกไผ่เลี้ยง บ้านศรีชมชื่น ต.วังหลวง อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย กล่าวว่า  อดีตไปทำงานที่กรุงเทพฯ นานนับ 10 ปี ไม่มีเงินเก็บ เจ็บป่วยเนื่องจากทำงานโรงงานมีสารพิษในร่างกาย จนต้องกลับมาพักฟื้นที่บ้าน เก็บหน่อไม้ที่ปลูกไว้ 9 กอไปทำอาหารและที่เหลือนำไปขายได้วันละประมาณ 100 บาทเลี้ยงชีพ จึงมีแนวคิดว่าหากปลูกไผ่เลี้ยงเพิ่ม คงจะมีรายได้เพิ่ม ดีกว่าไปทำงานกรุงเทพฯ จากนั้น ใช้พื้นที่นา  4 ไร่ ทำไร่นาสวนผสมโดยเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต แบ่งพื้นที่ใช้สอยที่มีปลูกพืชที่สามารถกินและขายได้ โดยเฉพาะต้นไผ่เลี้ยงปลูกไว้  400 ต้นมากกว่าพืชชนิดอื่น  เนื่องจากปลูกง่ายและเห็นว่า ไผ่เลี้ยงเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง ลงทุนก็ไม่มาก ดูแลง่าย   สามารถเก็บหน่อไผ่ หรือหน่อไม้ ขายได้ตลอดทุกฤดูแม้กระทั่งช่วงฤดูแล้ง  ต่างจากไผ่ธรรมชาติ ที่จะมีเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น อีกทั้งหน่อไผ่ยังเป็นอาหารโปรดของชาวบ้านในพื้นที่อีสานที่ชอบกิน เกือบทุกหลังคาเรือน  ทำให้ความต้องการของตลาดในชุมชนและผู้บริโภคมีเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน ไผ่เลี้ยงที่ปลูกไว้สามารถเก็บหน่อไผ่ ขายได้ กก.ละ 50 บาท โดยทุก ๆ เช้าจะเก็บขายได้ทุกวัน ๆ ละ 300-500 บาท ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีทีเดียวสำหรับการดำรงชีพในชนบท  ส่วนหน่อไผ่จะมีชาวบ้านและแม่ค้าในตลาดชุมชนมาซื้อทุกวัน   และลำไผ่ก็ยังสามารถขายได้อีก   สำหรับการดูแลรักษาต้นไผ่เลี้ยงและพืชชนิดอื่น ๆ  ตนได้ทำปุ๋ยหมักใช้เองจากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อใช้รดต้นไผ่เลี้ยงและพืชชนิดอื่นที่ปลูกไว้เพื่อไม่ให้มีสารพิษ สร้างความมั่นใจในการบริโภค  อีกทั้ง ขุดบ่อน้ำใช้เองเพื่อใช้รดน้ำต้นไม้  ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง   ไผ่เลี้ยงที่ปลูกทุกต้นตนจะเพาะพันธุ์เอง  โดยใช้พื้นที่บริเวณสวนไผ่ทำเป็นเรือนเพาะชำกล้าไม้   ใช้เวลาว่างที่มีอยู่เพาะพันธุ์กล้าไผ่และกล้าพันธุ์พืชชนิดอื่นโดยไม่ต้องไปหาซื้อ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต  โดยเฉพาะต้นไผ่เลี้ยง ตนจะขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ครบ 1,000 ต้น  ในพี้นที่ 40 ไร่  อีกประมาณ  1 ปี  ตนจะสามารถสร้างรายได้ขายหน่อไผ่หรือหน่อไม้ได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 บาท


สำหรับนายวสันต์ฯ ทางอำเภอเฝ้าไร่และ อบต.วังหลวง ตั้งให้เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และเป็นเกษตรกรต้นแบบเพื่อให้เกษตรกรทั่วไปที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้แนวทางการพึ่งตนเองเป็นหลัก.