วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หนองคาย ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนเพิ่มรายได้

                  
           หนองคาย เปิดศูนย์การเรียนรู้เลี้ยงไก่ไข่โร๊ดไทย  แบบปล่อยอิสระหรือไก่ไข่อารมณ์ดี  ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ด้วยอาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เป็นการลดต้นทุนเพิ่มรายได้ และ
เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนพึ่งตนเองได้  ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

   วันที่ 18 มิ.ย.58  ที่บ้านนางประสิทธิ์ ปากวิเศษ บ้านดงบัง ต.หนองปลาปาก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย   นายศักดิ์สิทธิ์ ทิพยธร  ปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่  ได้ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่โร๊ดไทย ด้วยอาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่น และจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เลี้ยงไก่ไข่โร๊ดแบบปล่อยอิสระ โดยมีนายไพฑูรย์ จิตต์สุทธิผล นายอำเภอศรีเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่โร๊ดไทย แบบปล่อยอิสระหรือไก่ไข่อารมณ์ดี   ตามแนวทางพระราชดำริสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ และตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมมอบพันธุ์ไก่ไข่โร๊ดไทย จำนวน 1,050 ตัว ให้แก่เกษตรกร จำนวน 30 ราย

   สำหรับการเปิดศูนย์เรียนรู้ครั้งนี้ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์โร๊ดไทย มาตั้งแต่ปี 2554    โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไก่ไข่จากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ จังหวัดขอนแก่นครั้งแรก 700 ตัว  มอบให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยไก่ไข่ที่ได้รับจะเลี้ยงในโรงเรือนที่ทำจากวัสดุราคาถูกที่หาได้ในท้องถิ่นและมีพื้นที่จำกัด  เพื่อป้องกันโรคติดต่อสัตว์ปีก  ปัจจุบันทางปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่ สามารถผลิตพันธุ์ไก่ได้เอง และแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อำเภอศรีเชียงใหม่  4 ตำบล ไปแล้วประมาณ 2,000 ตัว สามารถผลิตไข่ได้วันละประมาณ 300-400  ฟอง  




                            นอกจากนั้น นายศักดิ์สิทธิ์ ทิพยธร  ปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่  ยังได้คิดค้นสูตรอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น  ได้แก่  หญ้าเนเปีย  หยวกกล้วย  รำ ปลายข้าว ดินแดง มูลวัวแห้ง น้ำตาลทรายแดง  และเกลือ  มาผสมเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง   เหมาะสำหรับไก่ไข่   ด้วยต้นทุนถูกเพียงกิโลกรัมละประมาณ  3 บาท    ปัจจุบันเกษตรกรชาวอำเภอศรีเชียงใหม่   มีไข่ไก่อินทรีย์ที่ไม่มีสารตกค้างไว้บริโภคเองอย่างเพียงพอ  ส่วนที่เหลือยังสามารถนำไปจำหน่ายในตลาดสีเขียว  ที่หน่วยงานภาครัฐได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรได้มีตลาดจำหน่าย   ซึ่งสามารถขายได้ฟองละ 6-8 บาท   และยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค  ทำให้เกษตรกรรายย่อย สามารถลดต้นทุนการผลิต  มีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ซึ่งทางอำเภอและปศุสัตว์อำเภอจะทำการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านต่อไป