วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

หนองคาย เกษตรกรชาวนาหันมาปลูกพืชผสมที่ใช้น้ำน้อย ทนแล้ง

 

หนองคาย เกษตรกรชาวนาหันมาปลูกพืชผสมที่ใช้น้ำน้อย ทนแล้ง ลดความเสี่ยงไม่มีน้ำทำนา สร้างรายได้เสริมแบบพออยู่พอกินเลี้ยงครอบครัวตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

   
จากสถานการณ์ภัยแล้งทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งเริ่มมีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง  เกษตรกรชาวนาบ้านหัวทราย  หมู่ที่  11 ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย  หันมาปลูกพืชผสมที่ใช้น้ำน้อย ทนแล้ง หลังต้องหยุดทำนา เพื่อลดความเสี่ยงไม่มีน้ำทำนา เนื่องจากที่นาอยู่บนพื้นที่สูงและต้องประสบปัญหาแย่งสูบน้ำเข้าท้องนากับชาวนารายอื่น


              นายบัวผัน บุญชัย  อายุ 67 ปี เกษตรกรชาวนาบ้านหัวทราย กล่าวว่า ช่วงนี้ตนจำเป็นต้องหยุดทำนา 5 ไร่ ที่อยู่บนพื้นที่สูงห่างไกลคลองน้ำ ปกติตนจะลงมือทำนาปีละครั้ง ซึ่งต้องแย่งสูบน้ำเข้านากับชาวนาคนอื่นๆ ทุกปี ข้าวก็ได้ผลผลิตน้อย   จึงต้องหันมาทำพืชผักผสมหลายชนิด มาเป็นอาชีพเสริม โดยทำการปลูกผักผสมในพื้นที่ 3 ไร่ แยกเป็นปลูกผัก 1 ไร่ เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว ผักชี ผักกวางตุ้ง และฟักทอง ซึ่งสวนผักนั้น จะทำการรดน้ำทุกวันแต่ใช้น้ำไม่มาก ส่วนฟักทองจะให้น้ำระยะห่าง 9-10 วันต่อครั้ง


                 ซึ่งจะประหยัดน้ำมาก ส่วนอีก 2 ไร่ จะปลูกตะไคร้ โดยเริ่มปลูกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตั้งแต่ปลูกก็ไม่ได้ให้น้ำมากเช่นกัน  เพราะเป็นพืชทนแล้ง  และช่วงนี้ตะไคร้ก็เริ่มขายได้แล้ว  ซึ่งจะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ไม่ต้องไปวางขายตามท้องตลาดเอง แต่ละวันจะส่งขายได้ 300-500 กิโลกรัม/วัน  ทุกอย่างที่ปลูกจะใช้ปุ๋ยคอก  และตาม ปุ๋ยชีวภาพ  ส่วนน้ำที่ใช้รดผักก็เป็นน้ำคลอง สำหรับรายได้จากการจำหน่ายพืชผัก เป็นรายได้เสริมสู้ภัยแล้งสำหรับเลี้ยงครอบครัวแบบพออยู่พอกิน  ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว