พิณ
เครื่องดนตรีพื้นบ้านที่นับวันจะกลายเป็นตำนาน
ที่คนรุ่นใหม่คิดว่าเป็นเครื่องดนตรีล้าหลังแต่ปราชญ์ชุมชน
ศิลปินผู้รักหลงใหลเสียงพิณมาตั้งแต่วัยเยาว์วัย
ยังคงสืบสานศิลปวัฒนธรรมถ่ายทอดความรู้ด้านพิณให้กับผู้สนใจ
และทำพิณขายเป็นที่ยอมรับมานานกว่า 30 ปี ตั้งปณิธานจะทำพิณไปเรื่อย ๆ แม้จะไม่มีผู้ซื้อ
ตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพิณให้กับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และอนุรักษ์ให้คงอยู่
ก่อนที่จะเลือนหายไป
“เมื่อได้ยินเสียงพิณ เสียงแคน อยากร้อง อยากรำ”
เป็นคำพูดของนายทองขัน พาไสย์ อายุ 75
ปี ชาวบ้านบ้านกองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
ที่ได้เล่าเรื่องราวตั้งแต่วัยเยาว์ว่า ชอบเสียงพิณ เสียงแคนตั้งแต่อายุ 13
ปี พ่อให้ไปเลี้ยงควาย ได้ฟังคนแก่เขาดีดพิณเพลง
ลายต้อนวัวขึ้นภูเขานั่งฟังเพลงจนควายไปกินต้นข้าวของชาวบ้านเพราะรักหลงไหลในเสียงพิณ เมื่อปี พ.ศ. 2528
ได้ไปชมการแสดงดีดพิณของ อ.ทองใส ทับถนน วงเพชรพิณทอง
เล่นพิณลายต้อนวัวขึ้นภูเขาอีกครั้ง ยิ่งฟังยิ่งชอบตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะทำพิณ
ตื่นขึ้นมาได้ไปตัดต้นขนุน มาทำพิณในวันเดียวเสร็จ ออกแบบเองไม่มีคนสอน
จากนั้นมาหัดดีด ไม่รู้โน้ต จึงไปหาผู้ชำนาญในดนตรีพิณให้ตั้งเสียงพิณให้
อาศัยจำเสียง ดีดไปดีดมาจนเป็น ซึ่งเริ่มทำพิณครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2528 จำนวน 6 ตัว ขาย 3 ตัวแจกฟรี 3 ตัว จากนั้นก็จะออกเล่นพิณออกงานบุญต่าง
ๆ ภายในหมู่บ้านได้ และทำพิณเป็นอาชีพมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530
ซึ่งครูพิณทั่วประเทศต่างยอมรับในเสียงพิณที่ไพเราะ กังวาน
ความละเอียดในงานฝีมือ และเอกลักษณ์รูปหัวพญานาคที่ออกแบบเอง
จนจดลิขสิทธิ์ประทับตราทุกชิ้นงาน
เป็นผู้ผลิตพิณให้กับนักเล่นพิณมืออาชีพของเมืองไทยมาตลอดกว่า 30 ปี จนได้ฉายาว่า
ตำนานพิณแห่งลุ่มน้ำโขง เมืองหนองคาย
ลุงทองขันฯ กล่าวว่า พิณสมัยก่อนชาวพื้นบ้านอีสานจะเรียกว่า
บักกะจับปี่ หรือบักกะจับต้ง สำหรับไม้ที่ใช้ทำพิณ จะมีไม้ต้นขนุน
ต้นสะเดาและต้นกระท้อน ซึ่งชาวบ้านนำไม้ดังกล่าวมาขาย ระยะเวลาการทำพิณแต่ละตัวจะใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์
จึงจะสำเร็จโดยจะทำพิณ 2 ประเภท คือ พิณธรรมดา
และพิณไฟฟ้า จะมีราคาตั้งแต่ 1,600-10,000 บาท การทำพิณแต่ละตัวจะต้องอาศัยประสบการณ์ ความชำนาญในการเป็นช่างไม้
มีความพยายามและใจรัก ส่วนหัวของพิณจะเป็นรูปพญานาครูปใบโพธิ์เสี้ยวซึ่งออกแบบเอง
พิณแต่ละตัวจะมีตราประทับลิขสิทธิ์บนตัวพิณด้านหลัง ซึ่งแต่ละเดือนจะมีรายได้จากการจำหน่ายพิณ 8,000-10,000 บาท
บางเดือนจะมีร้านค้าสั่งซื้อครั้งละ 10 ตัว
โดยพิณตัวแรกของตนมีคนสนใจขอซื้อให้ราคาสูงแต่ไม่ขายยังเก็บรักษาไว้
พิณแต่ละตัวถือเป็นสิ่งมงคลทุกครั้งที่มีผู้มาซื้อไปตนจะทำพิธีตามความเชื่อก่อนให้ไป
ส่วนการทำพิณก็จะทำไปเรื่อย ๆ แม้จะไม่มีคนซื้อก็ตาม
ปัจจุบันบ้านของลุงทองขันฯ
ได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจในเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ได้มาดูวิธีการทำพิณและมาศึกษาเรียนรู้ ซึ่งบางครั้งมีหน่วยงานเชิญไปเป็นวิทยากร
ครูพิเศษ ลุงทองขันจะมีวิธีการสอนที่ไม่เหมือนใคร
คือใช้วิธีสอนด้วยนิ้วจำเสียงเป็นหลักการสอน มีลูกศิษย์หลายรุ่น
แต่ช่วงหลังคนรุ่นใหม่ไม่นิยมเพราะคิดว่ามันล้าหลัง แต่ลุงทองขันฯ ก็ยังทำพิณขายเช่นเดิม และตั้งปณิธานว่า
จะสืบสานเครื่องดนตรีพื้นบ้านนี้ไว้ จะถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่เกี่ยวกับพิณ
ให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ และจะอนุรักษ์ไว้ตลอดไป
จากความพยายามจนประสบผลสำเร็จ
ในการสืบทอดและอนุรักษ์พิณเครื่องดนตรีพื้นบ้านมานานตลอดชีวิต จนได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ชุมชนด้านพิณ
รางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่น รางวัลจัดทำพิณ
ระดับสี่ดาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2546 - 2547 และศิลปินดีเด่นจังหวัดหนองคาย
สาขา ศิลปะการแสดง ปี พ.ศ. 2548 เป็นเครื่องยืนยันคุณภาพของลุงทองขัน พาไสย์ ตำนานพิณแห่งลุ่มน้ำโขง จังหวัดหนองคาย