วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

หนองคาย มูลนิธิราชประชาฯมอบผ้าห่มพระราชทานแก่นักเรียน

            

           หนองคาย  ผู้แทนประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์จังหวัดหนองคาย มอบสิ่งของพระราชทาน จากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ให้กับนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 จังหวัดหนองคาย

          วันนี้ (25 ม.ค.) ที่หอประชุมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 บ้านเตาถ่าน ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย    นายมนต์สิทธิ์  ไพศาลธนวัฒน์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย    ผู้แทนประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ จังหวัดหนองคาย เป็นประธานพิธีมอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทาน   จากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์     แก่นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27   จังหวัดหนองคาย  จำนวน 351  คน


          สำหรับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 จังหวัดหนองคาย ได้ดำเนินการจัดการศึกษาด้วยระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาเป็นเวลา 18 ปีแล้ว ได้จัดใช้เป็นสื่อการสอน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  ครบ 12 ชั้น  เป็นการสนองการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และสนองการปฏิรูปการศึกษา ตามกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ สนองพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการขจัดภัยความไม่รู้หนังสือให้แก่ปวงชนชาวไทยที่เป็นผู้ด้อยโอกาส ปัจจุบันโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 จังหวัดหนองคาย มีเด็กนักเรียนรวมทั้งสิ้น 1,050 คน 



หนองคาย ทหารเร่งขุดลอกสระกักเก็บน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง



หนองคาย กองทัพบก โดย กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดหนองคาย เร่งขุดลอกสระเก็บน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง  เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้เพิ่มขึ้นหลังจากตื้นเขินมานาน สถาบันการศึกษาและเกษตรกรในพื้นที่สามารถมีแหล่งน้ำใช้ในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี 



ที่บริเวณสระเก็บน้ำสาธารณะ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงนา 1 ไร่ 1 แสน โรงเรียนบ้านเชือกหม้วยวิทยา บ้านหม้วย ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย พันเอกยุวัต  ขันธปรีชา   ผู้บัญชาการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 3  /ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดหนองคาย พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานขุดลอกสระเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง  ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงนา 1 ไร่ 1 แสนของโรงเรียนแห่งนี้ และเกษตรกรในพื้นที่  สำหรับการขุดลอกสระน้ำครั้งนี้  


เนื่องจากแหล่งน้ำสาธารณะทั้งสองแห่ง  มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร   เนื่องจาก ช่วงหน้าแล้งจะประสบปัญหาไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ เพราะมีสภาพตื้นเขินและมีวัชพืชจำนวนมาก  ทาง กกล.รส.นค. จึงได้นำอุปกรณ์ เครื่องจักรกล และกำลังพลออกมาเร่งดำเนินการช่วยเหลือขุดลอกสระน้ำให้มีความลึกเพิ่มขึ้น     เมื่อดำเนินการเสร็จสามารถกักเก็บน้ำได้กว่า 6,000 ลูกบาศก์เมตร เกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 500 ครัวเรือน และโรงเรียนบ้านเชือก หม้วยวิทยา มีน้ำสำหรับการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงนา 1 ไร่ 1 แสนได้ตลอดทั้งปี 



หนองคาย กองทัพบก โดย กกล.รส.หนองคาย มอบบ้านให้ราษฎรผู้ด้อยโอกาส



หนองคาย  กองทัพบก โดย กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดหนองคาย มอบบ้านให้กับผู้ด้อยโอกาสและมีฐานะยากจน ตามโครงการซ่อมแซมบ้านประชาชนสร้างกุศลถวายพ่อของแผ่นดิน



   วันนี้   พันเอก ยุวัต  ขันธปรีชา  ผู้บัญชาการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 3  /ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดหนองคาย เป็นประธานพิธีมอบบ้านให้กับพลทหารพรมลิน พันธลี  ที่บ้านเลขที่ 10 หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งสว่าง ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย  ซึ่ง เป็นนโยบายของกองทัพบก ในการช่วยเหลือและซ่อมแซมบ้านประชาชนผู้ด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจน     เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ซึ่ง  กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดหนองคาย ได้สนองนโยบายช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาสมาอย่างต่อเนื่อง


 ซี่งบ้านหลังดังกล่าวมีสภาพทรุดโทรม  ที่พลทหารพรมลิน พันธลี  สังกัด กองร้อยบริการทหารปืนใหญ่ที่ 3 จ.นครราชสีมา  ได้อาศัยอยู่กับมารดาที่มีอายุมากแล้วและมีฐานะยากจน ไม่สามารถซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้คงทนถาวรเองได้  ซึ่งหลังจากได้ประกอบพิธีมอบบ้านแล้ว ยังได้ มอบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  เครื่องอุปโภคบริโภค ผ้าห่มและผ้าเช็ดตัว ให้กับพลทหารพรมลินฯ และประชาชนที่มาร่วมงาน  ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในสังคมได้ตามปกติต่อไป






วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

หนองคาย เกษตรและสหกรณ์จังหวัดและประมงจังหวัดตรวจสอบไม่พบปลาตายจากสภาพอากาศหนาว

หนองคาย เกษตรและสหกรณ์จังหวัดและประมงจังหวัดตรวจสอบไม่พบปลาตายจากสภาพอากาศหนาว


หนองคาย  เกษตรและสหกรณ์จังหวัดหนองคายและประมงจังหวัดหนองคาย  ลงพื้นที่ตรวจสอบปลากระซังน้ำโขง  หลังจากที่การนำเสนอข่าว  สภาพอากาศเย็นลงฉับพลันและมีลมแรงส่งผลกระทบต่อปลาในกระชังของเกษตรกรที่เลี้ยงในแม่น้ำโขงที่บ้านพร้าวใต้-เจริญสุข ต.หินโงม อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย จนทำให้ปลาตาย    เมื่อวันที่  24 ม.ค 59 ที่ผ่านมา
วันที่ 25 มกราคม 2559 นายอำไพ ประเสริฐสังข์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดและนายสุพล ห้อยมาลา ประมงจังหวัดหนองคาย ได้ลงพื้นที่ บ้านพร้าวใต้-เจริญสุข ต.หินโงม อ.เมืองคายได้พบกับกำนันและสารวัตรกำนัน ต.หินโงม   ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำโขงที่บริเวณจุดดังกล่าว  ซึ่งกำนันหินโงมได้เปิดเผยว่า สภาพอากาศที่เย็นลงและมีลมแรงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปลาในกระชังมากนัก   การตายของปลาในช่วงนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่ปลาจะตาย 1-2  ตัวต่อกระชัง  อาจจะต่อวันหรือหลายๆวันตายครั้งหนึ่ง อาจจะมีผลบ้างในการกินอาหารน้อยลง หรือไม่กินเมื่ออากาศเย็นลง  ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเกษตรกรที่เลี้ยงปลากระซังจะรู้ดี   ส่วนการมีคลื่นลมในแม่น้ำโขงนั้นเกษตรกรบอกว่ายิ่งส่งผลดีต่อปลาในกระชังเพราะทำให้การถ่ายเทอากาศในกระชังดีขึ้นมีออกซิเจนมากขึ้น  โดยทางนายอำไพ ประเสริฐสังข์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดและนายสุพล ห้อยมาลา ประมงจังหวัดหนองคาย กำชับให้เกษตรกรดูแลเรื่องการให้อาหารปลาในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง  

เกษตรกร ปลูกกล้วยน้ำว้าทดแทนยางพาราที่ราคาตกต่ำสร้างรายได้

หนองคาย  อำเภอสังคมถือเมืองแห่งกล้วยน้ำว้าที่มีชื่อเสียง หลายปีที่ผ่านมาช่วงที่ราคายางพาราสูงเกษตรกรหันไปปลูกยางพาราแทน เกษตรกรพบว่าต้องลงทุนสูงขายผลผลิตก็ราคาตกต่ำต่อเนื่อง ต้องตัดต้นยางทิ้งหันไปปลูกพืชระยะสั้นได้ผลผลิตเร็ว จำหน่ายสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวแทน สนองนโยบายรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนปลูกพืชอื่นทดแทน 
นายวาทิน กุศล อายุ 42 ปี เกษตรกรปลูกกล้วยน้ำว้า ชาวบ้านม่วง ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า  ตนเองปลูกยางพารามา 6 ปี ไม่ได้ผลอะไรมีแต่เสียเงินไปซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลงหมดเงินไปมากลงทุนสูง อีกทั้งราคายางตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง มีแนวคิดหาปลูกพืชชนิดอื่นมาทดแทน  จึงได้ตัดต้นยางพาราทิ้ง หันไปปลูกกล้วยน้ำว้า ซึ่งเคยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอสังคมมาก่อน ที่เกษตรกรคิดว่าราคายางดี ตัดต้นกล้วยทิ้งหันไปปลูกยางพาราเป็นส่วนใหญ่ ตนคิดหากปล่อยต้นยางพาราไว้ก็คงขายไม่ได้ราคา  ดังนั้น จึงตัดต้นยางพาราที่ปลูกมา 6 ปีทิ้งสนองนโยบายรัฐบาลให้ปลูกพืชอื่น และใช้น้ำน้อยมาทดแทน  ได้นำพันธุ์กล้วยน้ำว้ามาปลูกแทนกว่า 1,000 ต้น จำนวน 11 ไร่ และปลูกเงาะกว่า 300 ต้น ในพื้นที่ 7 ไร่อีก 3 ปี 
คงได้ผลผลิต  สำหรับกล้วยน้ำว้า ปลูกมาได้ประมาณ 2 ปีทนแล้งและไม่เปลืองน้ำ ปีแรกก็ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ จะส่งเครือกล้วยขายโดยมีพ่อค้ามารับถึงบ้าน จะขายแบบไม่แยกหวี จะขายเป็นเครือกล้วย ส่วนราคาจะนับหวีกล้วยที่อยู่ในเครือ คิดหวีละ 9 บาท จะเหลือไว้ 2 หวีที่ไม่คิดเงินเพราะจะให้พ่อค้าที่มารับไปขายเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปส่งขายตลาดในจังหวัดหนองคายและอุดรธานี  จะเก็บขายเดือนละ 1-2 ครั้ง มีรายได้ต่อเดือน 5,000-15,000 บาท
ถือเป็นรายได้ที่ดี ที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้แบบพออยู่พอกิน ซึ่งช่วงหลัง ๆ เกษตรกรที่นี่เริ่มหันไปปลูกกล้วยเพิ่มขึ้น  มีเกษตรกรบางรายต้องปล่อยสวนยางพาราทิ้งโดยไม่กรีดยาง ไม่ใส่ปุ๋ย และไม่จ้างแรงงานกรีดยาง เพราะหากนำไปขายก็ไม่ได้ราคาไม่คุ้มทุนที่เสียไป  ตนคิดว่าอย่าไปหวังรอให้คนอื่น หรือรัฐบาลมาช่วยเหลือ เราต้องช่วยเหลือตนเองให้ได้ก่อนเพื่ออนาคตลูกหลาน จะได้มีกินมีใช้ 
                                     เสียง....นายวาทิน กุศล กล่าวว่า “ยางพาราปลูกมา 6 ปี ไม่ได้ผลอะไร มีแต่เสียเงินซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง หมดเงินไปเป็นหมื่น กล้วยปลูกปีเดียวก็ได้รับผลแล้ว อย่างไรปลูกกล้วยดีกว่ายาง ตอนที่ยางไม่เป็นราคาได้ตัดทิ้ง มีคนมาถามว่าตัดทิ้งทำไม ผมก็เลยบอกว่า สนองนโยบายรัฐบาล


เกษตรกร หนองคาย ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลุกมะนาวไร้ดินสร้างรายได้

               


         หนองคาย เกษตรกชาวอำเภอสังคมหนองคาย ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงปลูกมะนาวไร้ดิน  ด้วยวิธี ใช้แกลบที่ชาวบ้านทิ้งผสมฟางข้าวและมูลสัตว์ โดยไม่ใช้ดินปลูก สามารถได้ผลผลิตเก็บมะนาวขายรายได้ดี พร้อมสอนลูกสาวเรียนรู้การเกษตรรู้จักคุณค่าของดินที่ทำให้เกิดประโยชน์ได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู


         นางวันนา  คำเจริญ  อายุ 43 ปี  เกษตรกรชาวบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เจ้าของสวนมะนาวแป้นพิจิตร กล่าวว่า ตนเองมีพื้นที่ 3 ไร่ ติดเนินเขาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้ปลูกมะนาวแป้นพิจิตรลงท่อปูน จำนวน 280 ท่อ  เนื่องจากเห็นว่ามะนาวแพงในช่วงนั้น ลองผิดลองถูกด้วยการใส่ดินปลูกในส่วนผสมสูตรต่าง ๆ แต่ได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ จากนั้นจึงลองนำฟางข้าวและแกลบที่ชาวนาปล่อยทิ้งให้เน่านำแทนดินได้ นำใส่กระสอบมาเก็บไว้และลองนำมาผสมปลูกมะนาว โดยไม่ใส่ดินเลย จะใส่เพียงฟางข้าวและแกลบ พร้อมกับมูลปุ๋ยมูลสัตว์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ปนกับแกลบที่เน่าสลายซึ่งเป็นปุ๋ยอย่างดี พร้อมกับปุ๋ยมูลสัตว์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นและจุลรินทรีย์ที่ทำเองลงท่อ


 ปลูกมะนาวแทน จากนั้นประมาณ 8 เดือนถึง 1 ปี มะนาวก็จะออกดอกให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ  ดก เปลือกบาง สามารถเก็บขายได้ตลอดทั้งปี มีพ่อค้าแม่ค้าจากไทยและลาว มาสั่งซื้อ กก.ละ 30-40 บาท และจำหน่ายในท้องถิ่น ส่วนการดูแลรักษา หากต้นมะนาวต้นไหนแกลบและส่วนผสมอื่นยุบตัวลงก็จะใส่เติมเข้าไป เท่าที่ปลูกมาต้นมะนาวมาก็ไม่เกิดโรค ต้นมะนาวสมบูรณ์แข็งแรงดี


          ยังได้สอนลูกสาวอายุ  16  ปี นักชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวังม่วงพิทยาคม ได้เรียนรู้เรื่องการทำเกษตร ให้รู้จักคุณค่าของดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ สอนให้เพาะพันธุ์มะนาว ปลูกมะนาวและพืชสวนชนิดอื่น ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ด้วย

          นางวันนา กล่าวว่าต่อว่า“ทำการเกษตรแล้วไม่ตาย ถึงจะมีเงินเดือนขนาดไหนก็ช่าง ทำเกษตรอยู่ได้ตลอดไปเรื่อย ๆ มีอยู่มีกินแต่ต้องใจสู้ เราอย่าทิ้งพื้นดินที่เราเกิด ดินเป็นบุญคุณกับเราเสมอ คือสมบัติส่วนหนึ่งของประเทศชาติ สมบัติที่เราหาค่าไม่ได้ และคนมีดินเป็นสมบัติส่วนหนึ่งของตนเอง คนไม่มีดินยังแสวงหาพื้นดิน เมื่อเรามีดินแล้วเราทำดินให้เกิดประโยชน์  เรารักในหลวง”เราจะยึดแนวพระราชดำริของพระองค์ และจะเดินตามพระองค์ท่าน 








เกษตรกร ปลูกส้มบางมดอีสานสร้างรายได้ดี

                   



                    เกษตรกรชาวหนองคาย ปลูกส้มเขียวหวานบางมดในพื้นที่กว่า  10  ไร่  ประสบผลสำเร็จหลังจากนำต้นพันธุ์ส้มจากภาคกลางมาปลูก  ได้ผลผลิตปีละ  20-30 ตัน สร้างรายได้เป็นอย่างดี


                นายวิรัตน์  ยากลิ่น อายุ  56  ปี เกษตรกรเจ้าของสวนส้มบ้านหนองแหวน  ตำบลทุ่งหลวง อำเภอโพนพิสัย  จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า  ตนเองเป็นชาวจังหวัดนนทบุรี มีครอบครัวเป็นชาวหนองคาย มีพื้นที่ว่างเปล่ากว่า 10 ไร่  จึงได้ปรับพื้นที่ยกร่องนำต้นกล้าพันธุ์ส้มเขียวหวานบางมดมาจากจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกส้มบางมดที่มีชื่อเสียง หลังจากที่ได้ประสบปัญหาถูกน้ำท่วมหนักเมื่อหลายปี  ทำให้ต้นส้มถูกน้ำท่วม เกิดความเสียหาย  ขาดทุนไม่ทำสวนส้มอีก  ทำให้พื้นที่ปลูกส้มในภาคกลางลดน้อยลง 


และไปหาพื้นที่ปลูกส้มในพื้นที่อื่นแทน   ตนมีแนวคิดอยากมาทดลองปลูกส้มในพื้นที่ภาคอีสาน จึงได้นำเอาพันธุ์ส้มบางมดมาเริ่มปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2550   หลังจากนั้นลองผิดลองถูก ได้ 3 ปี ต้นส้มประมาณ 300 ต้น สามารถเก็บผลผลิตได้  ประมาณ ปีละ 20-30 ตัน ส่วนปีนี้เก็บผลผลิตได้ประมาณ  20  ตัน เนื่องจากต้องปรับแต่งกิ่ง นอกจากนี้ปีที่ผ่านมายังปลูกเพิ่มอีก 400 ต้น ส่วนการดูแลรักษาต้นส้มจะไม่ตัดต้นหญ้าบริเวณโคนต้นและแปลงปลูก  เนื่องจาก ทำเป็นปุ๋ยพืชสด  ช่วยปลกคุมหน้าดิน เพื่อไม่ให้น้ำระเหยไปกับความร้อน ทำให้ดินมีคุณภาพดี   และยังทำให้ลดปริมาณการใช้น้ำด้วย 


 สำหรับระยะเวลาปลูก ประมาณ 10-11 เดือน ก็จะสามารถเก็บผลผลิตได้ ขนาดของผลส้มที่จะเก็บไปจำหน่าย   ส้มขนาดเบอร์ 0  ราคา 40 บาท/กก.  เบอร์ 1  ราคา  35 บาท/กก.  เบอร์ 2  ราคา 30 บาท/กก. และ เบอร์ ราคา 25-28 บาท/กก.  จะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงในสวน นำไปจำหน่ายทั้งในจังหวัดหนองคายและต่างจังหวัด โดยจะเรียกส้มที่นำไปจำหน่ายว่า ส้มบ้านหนองแหวน หรือ ส้มโพนพิสัย  ซึ่งรสชาติของส้มบ้านหนองแหวน จะมีรสชาติดีหวานอมเปรี้ยวไม่แพ้ส้มบางมดต้นตำรับ  นอกจากนั้น ตนยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับนักเรียนและผู้ที่สนใจทั่วไปด้วย