วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หนองคาย ถนนปลอดภัย สร้างวินัยจราจร 14 สาย ที่ เน้น จับ ปรับ จริง


นายสมหวัง  ทองขาว  ขนส่งจังหวัดหนองคาย  เปิดเผยว่า  วันที่ 1 กรกฎาคม 2558  - กันยายน 2558 เริ่ม  ถนนปลอดภัย สร้างวินัยจราจร ที่  เน้น จับ ปรับ จริง  และต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด  ในถนน  14  สาย  หากผู้ขับขี่ยานพาหนะในเส้นทางนี้ ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด  ซึ่งมีหน่วยงานเข้าร่วมโครงการ 113 แห่ง เป็นหน่วยงานภาครัฐ 78 แห่ง ภาคเอกชน 14 แห่ง สถาบันการศึกษา 12  แห่ง และชุมชน 9 แห่ง สำหรับถนนปลอดภัย สร้างวินัยจราจร  ได้แก่
-ถนนสายประจักษ์ศิลปาคม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จากลานน้ำพุเฉลิมพระเกียรติ ถึงสี่แยกเทพบันเทิง ซอยนิตะพัฒน์ ระยะทางประมาณ 700 เมตร (สภ.เมืองหนองคาย)
-ถนนสันติสุข ตั้งแต่สี่แยกไฟแดงหน้าประตูเมือง ถึงสี่แยกปิ่งทอง (สภ.ท่าบ่อ)
-ถนนสายหนองคาย-บึงกาฬ ทางหลวงหมายเลข 212 ช่วงจุดตรวจวัดหลวง ประมาณ 3 กม. (สภ.โพนพิสัย)
-ทางหลวงสาย 211 เริ่มตั้งแต่สี่แยกทางเข้าวัดศรีเชียงใหม่ (วัดทุ่ง) ซอยเทศบาล 17 ถึงหน้าเทศบาลศรีเชียงใหม่ ซอยเทศบาล 10 ระยะทางประมาณ 800 เมตร (สภ.ศรีเชียงใหม่)
-ถนนหมายเลข 212  ถนนหนองคาย-บึงกาฬ เริ่มจากหน้า รพ.รัตนวาปีถึงหน้าสหกรณ์การเกษตรรัตนวาปี ระยะทาง 3.2 กม. (สภ.รัตนวาปี)
-ถนนมิตรภาพ (A2) สายอุดรธานี-หนองคาย (สภ.สระใคร)
-ถนนโพนพิสัย-โซ่พิสัย หลัก กม.ที่ 23-31 (สภ.เฝ้าไร่)
-ถนนสายหนองคาย-เมืองเลย เส้น 211 ระหว่างสะพานห้วยน้ำโสม ถึงสะพานห้วยค้อ ระยะทาง 4 กม.(สภ.สังคม)
-ถนนสาย 2266 เริ่มหน้าโรงเรียนโพธิ์ตากพิทยาคม ถึงสะพานบ้านโพธิ์ตาก (เขตติดต่อบ้านผือ จ.อุดรธานี ระยะทางประมาณ 1,500 เมตร (สภ.โพธิ์ตาก)
-ถนนหนองคาย-โพนพิสัย กม.ที่ 22-32 (สะพานปากสวย)ระยะทางประมาณ 20 กม.(สภ.บ้านเดื่อ)
-ถนนสายบ้านเซิม-เฝ้าไร่ กม.10-12 ระยะทาง 2 กม. (สภ.เซิม)
-ถนนพนังกั้นน้ำโขง เส้นทางหนองคาย- ท่าบ่อช่วง กม.ที่ 6-7 บ้านท่าดอกคำ ต.เมืองหมี อ.เมืองหนองคาย (สภ.เวียงคุก)
-ถนน รพช.สาย 3026 (บ้านม่วง-บ้านเทพประทับ) (สภ.นางิ้ว)  และ

-ถนนทางหลวงชนบทเส้นภูเสด็จ-อ.สร้างคอม (ถนนทางหลวงชนบทระหว่างหมู่บ้านเหล่าโพธิ์ศรี-บ้านสร้างนางชาว อ.โพนพิสัย) (สภ.เหล่าต่างคำ)
สำหรับ ผู้ร่วมโครงการฯทำดีปฏิบัติตามกฎจราจร จะได้รับสติกเกอร์สัญลักษณ์ต้นแบบความปลอดภัย กปถ.สะสมไว้รับรางวัลเมื่อสิ้นสุดโครงการฯ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัดหนองคาย โทร 042-421473  หรือ โทร 1584  "อย่าลืม ...ทำดีมีวินัยจราจร " 

หนองคาย นำร่ององค์กรต้นแบบความปลอดภัยทางถนน จังหวัดแรกของประเทศ เน้น จับ ปรับ จริง


           หนองคาย   ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดหนองคาย นำร่ององค์กรต้นแบบความปลอดภัยทางถนน จังหวัดแรกของประเทศ  เน้น  จับ ปรับ จริง ให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด  เพื่อสร้างมาตรการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุร่วมกันอย่างจริงจัง และเพื่อนำชีวิตที่ปลอดภัยคืนสู่ถนน 


           วันนี้  ที่โรงแรมบุศยรินทร์ อำเภอเมืองหนองคาย  ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยจังหวัดหนองคาย โดยนายสมหวัง ทองขาว ขนส่งจังหวัดหนองคาย ได้จัดแถลงข่าวและประชุมซักซ้อมแนวทางการดำเนินโครงการบูรณาการสร้างองค์กรต้นแบบความปลอดภัยทางถนนจังหวัดหนองคาย  โดยมีนายอโณทัย ธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดงาน 

          ซึ่งการดำเนินการโครงการครั้งนี้ นายสมหวัง  ทองขาว ขนส่งจังหวัดหนองคาย ได้ซักซ้อมแนวทางการดำเนินโครงการเรื่อง มาตรการองค์กรต้นแบบสำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ , พ.ต.อ.กิตติศักดิ์  จำรัสประเสริฐ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย ชี้แจงเรื่อง การบังคับใช้กฎหมาย  และการประเมินผลและตัวอย่างการดำเนินโครงการ โดยนางสาวนงลักษณ์  พิทักษ์กุล ผจก.บ.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขาหนองคาย เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ทุกพื้นที่ของจังหวัดหนองคาย ได้ช่วยกันต่อต้านการใช้รถใช้ถนนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เคารพกฎจราจร และให้ร่วมกันปฏิบัติตามกฎจราจรกันอย่างเคร่งครัด  และเข้าร่วมโครงการองค์กรต้นแบบความปลอดภัยทางถนน โดยจะเริ่มดำเนินการสร้างมาตรการองค์กรต้นแบบความปลอดภัยทางถนนพร้อมกันในทุกพื้นที่ของจังหวัดหนองคาย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันายน  2558  และได้กำหนดถนนต้นแบบความปลอดภัย ทั้ง 9  อำเภอของจังหวัดหนองคาย จำนวน 14  สาย เป็น”ถนนปลอดภัย สร้างวินัยจราจร”   ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเข้มงวดกวดขันวินัยจราจร หากฝ่าฝืนกฎจราจร จะดำเนินการ จับ ปรับ จริง หากพบผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่ทำดีปฏิบัติตามกฎจราจร จะได้รับสติกเกอร์สัญลักษณ์ต้นแบบความปลอดภัย กปถ. สะสมไว้รับรางวัลเมื่อสิ้นสุดโครงการ  ส่วนบุคลากรของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องควบคุมบุคลากรที่ขับขี่รถยนต์ต้อง คาดเข็มขัดนิรภัย 100% และขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย 100% และต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด  เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ลดลงได้อย่างยั่งยืน

                สำหรับโครงการฯ ดังกล่าวมีหน่วยงานหลักที่ร่วมดำเนินการโครงการฯ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กองบังคับการตำรวจภูธร  สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย    สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม   บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขาหนองคายและสำนักงานขนส่งจังหวัดหนองคาย   โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการฯ  113 แห่ง   
   





วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หนองคาย จัดกิจกรรมวันต่อต้านยาเสพติด "คิดดีทำดี ต่อต้านยาเสพติด

                         
     หนองคาย จัดกิจกรรมวันต่อต้านยาเสพติด "คิดดีทำดี ต่อต้านยาเสพติด" ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในโอกาสที่ทรงมีพระชนมายุ 5 รอบ เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดประจำปี 2558

     วันที่ 26 มิถุนายน 2558   ที่ หอประชุมประจักษ์ศิลปาคม ศาลากลางจังหวัดหนองคาย นายไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ ปลัดจังหวัดหนองคาย ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติด ประจำปี 2558 โดยมีนายอโณทัย ธรรมกุล รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธี  มอบโล่เชิดชูเกียรติแก่ผู้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ด้านการป้องกัน ปราบปราม การบำบัดฟื้นฟู และด้านการดำเนินงานภาคประชาชน พร้อมทั้งมอบรางวัลพร้อมเกียรติบัตรการประกวดสุดยอดภาพถ่ายกิจกรรมการป้องกันยาเสพติดเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทั้งได้นำกลุ่มพลังมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรมกล่าวปฎิญาณตน ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านยาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติด   ประจำปี 2558  โดยมี ส่วนราชการ กลุ่มพลังมวลชน นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,500 คน

      ตามที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดสากล โดยมอบหมายให้ภาคีองค์การสหประชาชาติ จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด เนื่องในวันสำคัญดังกล่าว และเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558

 จังหวัดหนองคาย โดยศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัดหนองคาย  จึงได้จัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงพลังต่อต้านยาเสพติดของส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษาและกลุ่มพลังมวลชน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะให้ทุกคน คิดดี ทำดี ต่อต้านยาเสพติด ให้ยาเสพติดหมดสิ้นไปจากประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ทรงมีพระชนมายุ 5 รอบ โดยกิจกรรม ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการส่งเสริมความรู้ในการต่อต้านยาเสพติดของส่วนราชการต่าง ๆ  และการแสดงของนักเรียน นักศึกษา / ชมรม TO BE NUMBER ONE  ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีการถ่ายทอดเสียงทาง สวท.หนองคาย ด้วย





หนองคาย ส่งมอบโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตร บรรเทาปัญหาภัยแล้ง


                หนองคาย ส่งมอบโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่อำเภอท่าบ่อ  ประเภทการจัดการแหล่งน้ำ  จำนวน 3 ตำบล  6 โครงการ


                วันที่ 26 มิถุนายน 2558   ที่ฝายน้ำล้นห้วยโพนน้อย หมู่ 1 บ้านนาน้ำพราย ตำบลหนองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย นายพัฒนธรณ์ กีรติรัฐวัฒน์ นายอำเภอท่าบ่อ เป็นประธานส่งมอบโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ปี 2558  ในพื้นที่ อำเภอท่าบ่อ  จำนวน  3 ตำบล ๆ ละ 1 ล้านบาท ได้แก่ ตำบลน้ำโมง ตำบลบ้านว่านและตำบลกองนาง  ประเภทการจัดการแหล่งน้ำ  มี 6 โครงการ ประกอบด้วย   โครงการขุดลอกห้วยหมูเน่าพร้อมฝายชะลอน้ำ หมู่ 4 บ้านฝาง ตำบลน้ำโมง,  .โครงการขุดลอกหนองบ่อเกลือ หมู่ 6 บ้านท่าสำราญ ตำบลน้ำโมง,   โครงการขุดลอกห้วยมุยพร้อมฝายชะลอน้ำ  หมู่ 10 บ้านสว่าง  ตำบลน้ำโมง,  โครงการขุดลอกห้วยวังไฮ หมู่ 4 บ้านว่าน ตำบลบ้านว่าน, โครงการสร้างฝายน้ำล้นห้วยคุก หมู่ 2 บ้านว่าน ตำบลบ้านว่าน และ  โครงการสร้างฝายน้ำล้นห้วยโพนน้อย หมู่ 1 บ้านนาน้ำพราย ตำบลหนองนาง   ซึ่งโครงการทั้ง 6 โครงการ    ได้ระดมแรงของชาวบ้านในการจัดสร้างเพื่อมีรายได้และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของชาวบ้าน  สนองนโยบายของรัฐบาล  เนื่องจากในช่วงนี้ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำทางการเกษตร แหล่งน้ำทางธรรมชาติเริ่มแห้งขอด   เมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็มีน้ำท่วม เพราะลำห้วยมีสภาพตื้นเขิน จึงทำการขุดลอกลำห้วย สร้างฝาย  เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขล่วงหน้าก่อนถึงฤดูแล้ง และเตรียมการแก้ไขอุทกภัยอีกด้วย.

หนองคายจัดสภากาแฟ (morning talk) ประจำเดือนมิถุนายน 2558

                            
          วันที่ 24 มิถุนายน 2558  ที่สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดหนองคาย   จังหวัดหนองคาย โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  23 หน่วยงาน   ได้รับมอบเป็นเจ้าภาพจัดสภากาแฟจังหวัดหนองคาย  (morning talk) ประจำเดือนมิถุนายน 2558  โดยมี นายสุชาติ  นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย , รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย 2 ท่าน คือ นายอโณทัย  ธรรมกุล ,นายประสงค์ คงเคารพธรรม และนายไพฑูรย์  รักษ์ประเทศ ปลัดจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่  ตัวแทนองค์กรอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมงานครั้งนี้ประมาณ 200 คน  เข้าร่วมงานสภากาแฟ     


                    กิจกรรมสภากาแฟ จัดหนองคายได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดหนองคาย ให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการปฏิบัติงาน เพื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ ต่อภารกิจของรัฐบาล และประโยชน์สุขของประชาชน โดยจัดให้มีการพบปะระดมความคิดจากทุกภาคส่วน ในรูปแบบการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในทุกเดือน โดยในครั้งนี้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพจัดงาน   จากนั้น  นายอำไพ  ประเสริฐสังข์  เกษตรและสหกรณ์จังหวัดหนองคาย เป็นตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบคืน โล่ห์สภากาแฟจังหวัดหนองคาย ให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคม 2558


วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หนองคาย ไถสวนยาง พลิกฟื้นปลูกฟักข้าวสร้างรายได้

หนองคาย อาจารย์หนุ่มเทคนิคไถสวนยางที่ปลูกกว่า 3 ปี ทิ้ง พลิกฟื้นผืนดินปลูกฟักข้าว ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ต้นทุนน้อยเห็นผลเร็ว จำหน่ายสร้างรายได้เสริมเดือนละกว่า 25,000 บาท เพราะรับต้นทุนการรักษาต้นยางสูงสู้ค่าจ้างแรงงานไม่ไหว ทั้งราคาตก จึงตัดสินใจไถสวนยางทิ้ 


   นายสิทธิชัย สิงห์มหาชัย  กล่าวว่า ตนรับราชการสอนวิชาอิเล็คทรอนิค  ที่วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย  แต่ใช้เวลาว่างหลังจากการสอนนักศึกษาและวันหยุด  ปลูกสวนยางพารา ที่ตำบลวัดหลวง อำเภอโพนพิสัย บนเนื้อที่กว่า 6  ไร่ ได้ประมาณ 3 ปีกว่า  ต้องลงทุนซื้อปุ๋ยและจ้างแรงงานในการทำสวนยาง ราคายางก็ตก มีต้นทุนสูงมากแบกรับภาระไม่ไหว  จึงตัดสินใจไถสวนยางทิ้งทั้งหมด หันมาปลูกพืชที่ได้ผลผลิตเร็วและสามารถสร้างรายได้มาทดแทน โดยนำฟักข้าวซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับแตงกวา มาปลูกทดแทนโดยทดลองปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ก่อน 
โดยลงทุนทำร้านสำหรับไว้ให้ต้นฟักข้าวเกาะ  หลังจากปลูกฟักข้าวได้ 5 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ สัปดาห์ละประมาณ 50-60 กิโลกรัม  นำไปจำหน่ายกิโลกรัมละ 40-60 บาท   ซึ่งผลฟักข้าวที่ปลูกไว้ก็จะสามารถเก็บได้ตลอด  ยิ่งปลูกนานหลายปีผลผลิตก็จะเพิ่มมากขึ้น ต้นฟักข้าวจะมีอายุอยู่ได้  20-30 ปี  การลงทุนปลูกฟักข้าวก็ต้นทุนก็น้อย ส่วนที่ใช้ประโยชน์คือ  ยอด ใบและผลอ่อนของฟักข้าว ก็สามารถนำไปจำหน่าย หรือนำไปประกอบอาหารรับประทานได้
  ส่วนเมล็ดก็สามารถนำไปเพาะพันธุ์ จำหน่ายได้ต้นกล้าละ 30 บาท การดูแลรักษาก็จะรดน้ำวันเว้นวัน ส่วนศัตรูฟักข้าวคือ แมลงวันทอง  ก็จะใช้วิธีกำจัดด้วยการใช้ขวดน้ำเปล่าใส่ใบกะเพราขาวล่อแมลงวันเข้าไป ส่วนการใช้ปุ๋ยก็จะเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำขึ้นเองจะไม่ใช้สารเคมี    จึงมั่นใจในการปลอดสารปนเปื้อนเมื่อนำไปบริโภค


 นายสิทธิชัย ฯ  กล่าว ต่อว่า นอกจากจะจำหน่ายลูกฟักข้าวแล้ว  ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว เช่น นำฟักข้าว สบู่ฟักข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่า  ทำให้มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น ช่วงนี้ก็มีรายได้เสริมเดือนละประมาณ 20,000-25,000 บาท   ปัจจุบันได้ปลูกต้นฟักข้าวในพื้นที่อีก 5 ไร่ จึงอยากให้เป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรที่ปลูกยางพารา หรือคิดจะปลูกใหม่   ควรหาพืชปลูกทดแทน พืชที่ลงทุนน้อย ได้ผลผลิตเร็ว ที่สามารถสร้างรายได้ ตามสภาพพื้นที่ ส่วนปุ๋ยที่ใช้ก็ควรเน้นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ที่ราคาไม่แพง  ไม่จำเป็นต้องเป็นปลูกฟักข้าวก็ได้ พืชสวนทุกชนิดสามารถสร้างรายได้  หากมีความมุ่งมั่น และยึดหลักตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ก็จะสามารถดำรงค์ชีพได้อย่างมีความสุข




หนองคาย ทหารสนธิกำลังเดินหน้าทวงคืนผืนป่า


หนองคาย  ทหาร กกล.รส.นค. สนธิกำลัง ตชด.,ป่าไม้ และนรข. บุกตรวจพื้นที่เดินหน้าทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติพานพร้าว-แก้งไก่ ในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน 664 ไร่ พบมีการปลูกบ้านพักอาศัยหลังใหญ่และอาคารบ้านพักคนงาน กลางป่าสงวนฯ และพบการบุกรุกของนายทุนและชาวบ้านอีกจำนวนหลายพันไร่  

วันที่ 24 มิ.ย. 58  พันโทรัฐวุฒิ  กระบวนรัตน์ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ,เสนาธิการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยประจำจังหวัดหนองคาย  สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน, หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและรักษาป่าที่ 2 อำเภอสังคม  กว่า 20 นาย เข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าสงวนแห่งชาติพานพร้าว-แก้งไก่ ที่บ้านห้วยไซงัว ,บ้านไทยพัฒนา และบ้านดงต้อง ตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย  พบมีชาวบ้านและนายทุนบุกรุกแผ้วถางตัดต้นไม้ แล้วปลูกยางพารา  และยังพบการสร้างบ้านพักอาศัยถาวร และอาคารที่พักคนงาน กลางป่าสงวนแห่งชาติ  ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวมีบ้านเลขที่ แต่ไม่พบเจ้าของบ้านมาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ มีเพียงรถยนต์จอดอยู่ภายในบ้าน  1 คัน  และมีคนงานมาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ฯ ว่ามารับจ้างกรีดยางไม่ใช่เจ้าของบ้าน  ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ทำการทวงคืนจำนวน 664 ไร่  ของพื้นที่ทั้ง 3 หมู่บ้าน และอีกหลายพันไร่


จากการตรวจสอบพบป่าสงวนแห่งชาติพานพร้าว-แก้งไก่ มีพื้นที่ที่ถูกบุกรุกกว่า 80% ของพื้นที่ทั้งหมด  สร้างความเสียหายกับป่าต้นน้ำ โดย เจ้าหน้าที่จะขับเคลื่อนเดินหน้าทวงคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุกคืน ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป



วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หนองคาย นักท่องเที่ยวแห่เที่ยวชมถ้ำดินเพียง หรือถ้าพญานาค

หนองคาย   นักท่องเที่ยวทั้งไทยและลาว แห่เที่ยวถ้ำดินเพียงต่างเชื่อเป็นถ้าญานาค สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด  ดูความมหัศจรรย์และจุดเด่นภายในถ้ำดินเพียงดินซึ่งมีปากถ้ำอยู่เสมอดินและเป็นถ้ำใต้ดิน ภายในมีโพรงและเสาหินธรรมชาติสลับซับซ้อนสวยงาม เรียกว่า ศาลาพันห้อง 

ที่ วัดถ้ำศรีมงคล ตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีถ้ำดินเพียง หรือ  ถ้ำพญานาค ตั้งอยู่    เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองคาย  ช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์หรือช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน จะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและลาว เดินทางเข้าไปสัมผัสบรรยากาศภายในถ้ำดินเพียงแห่งนี้ตลอดทั้งวัน  
สำหรับสาเหตุที่ได้ชื่อว่าถ้ำดินเพียง   เนื่องจากถ้ำแห่งนี้มีปากทางเข้าถ้ำอยู่เสมอพื้นดิน  ส่วนถ้ำก็อยู่ใต้ดิน ซึ่งสมัยก่อนเข้าใจว่าบริเวณปากถ้ำเป็นเพียงหลุมธรรมดาเท่านั้น  ภายในถ้ำมีโพรง มีซอกซอยสลับสับซ้อน  แบ่งแยกออกไปหลายเส้นทาง มีเสาหินหลายร้อยเสา บางจุดเป็นห้องโถงกว้าง สามารถเชื่อมทะลุถึงกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ ลักษณะขนาดของรูใหญ่กว่าตัวคนเพียงเล็กน้อยเหมือนกับเส้นทางของงูใหญ่หรือพญานาค   ภายในโพรงก็มีน้ำไหลไปตามซอกซอยทุกเส้นทาง ทำให้มีความเชื่อว่า ถ้ำแห่งนี้เป็นที่อยู่และที่สัญจรของพญานาค จึงเรียกถ้ำนี้ตามความเชื่อว่า ถ้ำพญานาค

ศาลาพันห้อง เป็นชื่อเรียกภายในถ้ำที่มีเสาหินขั้นระหว่างห้องต่าง ๆ หลายพันห้อง ห้องที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชม มีเพียง 9 ห้อง ห้องแรกเป็นห้องโถงทางเข้า ,ห้องที่ 2 เป็นห้องหีบศพปู่อินทร์นาคราช ที่มีหินธรรมชาติลักษณะคล้ายโลงศพ  , ห้องที่ 3 เป็นห้องเจดีย์ หีบศพ มีแท่นบูชา ,ห้องที่ 4 ห้องธิดานาคราช มี 4 ห้องติดกัน  ,ห้องที่ ห้องช้างสามเศียรผู้เข้าไปต้องมุดเข้าไปเหมือนมุดท้องช้าง  ,ห้องที่ 6 ห้องพระคัมภีร์มีแผ่นหินสี่เหลี่ยมวางคล้ายสมุดเล่มใหญ่  ,ห้องที่ 7 ห้องพระธาตุเจดีย์ ก่อนออกจากถ้ำผู้เข้าไปต้องกราบสักการะนำหินมาวางกองไว้  ,ห้องที่ 8 ห้องโถงทางออก และห้องที่ 9 ห้องปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์  ซึ่งเส้นทางเดินไปแต่ละห้องจะพบกับเงินเหรียญที่ถูกนำวางไว้ตามซอกหิน และการก่อเจดีย์หินที่วางไว้ ตามความเชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคลและประสบผลสำเร็จ


ปัจจุบันจังหวัดหนองคายได้ส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ทางวัดก็ได้จัดไกด์ไว้คอยบริการนำทาง พร้อมติดตั้งไฟส่องสว่างไปตามเส้นทางไว้บริการนักท่องเที่ยวได้เห็นสภาพภายในได้อย่างชัดเจนและสวยงาม โดยจะใช้เวลาเดินดูภายในถ้ำ ระยะทาง 200 เมตร จากปากถ้ำถึงทางออก ประมาณ 30-45 นาที   หลังจากติดตั้งไฟเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทำให้ ช่วงวันหยุด หรือเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา    มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและลาว  ให้ความสนใจเดินทางมาพิสูจน์ความมหัศจรรย์ของถ้ำแห่งนี้คึกคักตลอดทั้งวัน   ทางจังหวัดหนองคายได้ส่งเสริมให้ถ้ำเพียงดินเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอีกแห่ง  เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวโดยทั่วไปหลังเปิดประตูสู่อาเซียนในปลายปีนี้อีกด้วย

หนองคาย เลี้ยงตะพาบน้ำเพิ่มรองรับลูกค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน

 
 
เกษตรกรเลี้ยงตะพาบน้ำประสบผลสำเร็จ หลังจากที่ทำนาข้าวถูกน้ำท่วมซ้ำซากและเลี้ยงปลายากกว่าเลี้ยงตะพาบน้ำ  มีลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาซื้อถึงที่ และตลาดเริ่มต้องการมาก จนต้องขุดบ่อดินเลี้ยงเพิ่มรองรับลูกค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน มีรายได้จากการจำหน่ายในแต่ละปีหลายแสนบาท
นายกิตติพงษ์   ยอดคุณ  อยู่บ้านเลขที่ 280  หมู่ที่ 13 บ้านหนองไผ่ ตำบลหาดคำ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย   เกษตรกรเลี้ยงตะพาบน้ำ กล่าวว่า  แต่ก่อนตนมีอาชีพทำนา ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากนาที่ทำถูกน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ได้ผลผลิตน้อย เลี้ยงปลาก็เลี้ยงยาก ลงทุนก็มาก จึงมีแนวคิดทำอาชีพเสริมหารายได้เลี้ยงครอบครัว  จึงขุดบ่อดิน จำนวน 3 บ่อ บนเนื้อที่นาข้าว จำนวน 5  ไร่   
ส่วนหนึ่งก็สร้างบ้านพักอาศัย ไปซื้อลูกตะพาบน้ำพันธุ์ไต้หวันมาเลี้ยงทดลอง บ่อละ 2,000  ตัว  ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงก็จะเป็นอาหารปลาดุก  ปลาตาย และหอยเชอรี่ การให้อาหารตัวเล็กก็จะให้ 2 ครั้ง เช้า- เย็น ส่วนตัวโตก็จะให้อาหารครั้งเดียว เลี้ยงประมาณ 17-18 เดือน เก็บขายได้ กิโลกรัมละ 250-300 บาท  มีลูกค้าและตลาดต้องการมาก โดยเฉพาะลูกค้าจาก สปป.ลาว จะเดินทางมาซื้อจำนวนมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ  ช่วงระยะเวลาก่อนที่จะได้ขายตะพาบ ก็จะเพาะพันธุ์ลูกตะพาบน้ำขาย ด้วยการสร้างโรงวางไข่ไว้  เพื่อให้แม่พันธุ์ตะพาบน้ำมาวางไข่  2 วันจะเก็บได้ครั้งละ 200-300 ฟอง

จากนั้นจะนำไปไว้ ที่โรงฟักไข่ทำพื้นที่กั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม นำทรายหยาบ ๆ มาเทใสไว้ แล้วนำไข่ที่ได้ไปวางไว้ถมด้วยทราย ประมาณ
50-60 วัน ไข่ก็จะทยอยฟักเป็นตัว  จากนั้น จะนำไปลงบ่ออนุบาลที่ทำไว้ มี 48 บ่อ มีลูกพันธุ์ปล่อยไว้ประมาณ 3,000-5,000 ตัว  โตได้ประมาณ 1 เดือนแข็งแรงดี  ก็จะขายได้ตัวละ 10-15 บาท  ก็มีลูกค้ามารับซื้อ  และไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกเช่นกัน   ช่วงที่วางไข่ตั้งแต่เดือนเมษายน-ตุลาคม ซึ่งแต่ละปีตนก็จะเหลือลูกพันธุ์ไว้จะไม่จำหน่ายจนหมด  เพราะจะนำลูกตะพาบน้ำไปเลี้ยงไว้ในบ่อดินหมุนเวียนกันไปในแต่ละปี  ปัจจุบันได้ขุดบ่อดินเพิ่มอีก 2 บ่อ เป็น  5  บ่อ เพื่อเพิ่มปริมาณตะพาบน้ำ  รองรับความต้องการของลูกค้าทั้งไทยและลาว  ซึ่งคาดว่าหากเปิดประตูสู่อาเซียนจะมีลูกค้าจากจีน มาสั่งซื้อเพิ่มขึ้นด้วย  เนื่องจากตลาดความต้องการมีมากขึ้น 


สำหรับการเลี้ยงตะพาบน้ำ ตนคิดว่า  เลี้ยงง่ายกว่าเลี้ยงปลาอีก ดูแลง่ายและเมื่อตัวโตจะแข็งแรง เป็นสัตว์ที่กินน้อย ไม่มีโรคภัย และจะไม่มีปัญหาในการเลี้ยง  เพียงแต่เฝ้าระวังในช่วงหน้าฝนไม่ให้ออกจากบ่อดินได้ ต้องทำรั้วแผ่นกระเบื้องปิดกั้นไว้เท่านััน      สำหรับตนเองถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ  ตะพาบน้ำที่เลี้ยงไว้วางไข่แต่ละปีรวมแล้วหลายพันฟอง ทำให้มีรายได้โดยการจำหน่ายลูกพันธุ์ และตะพาบน้ำ ในแต่ละปีมีรายได้กว่า  300,000 บาท หรือมากกว่านั้นแล้วแต่ขนาดของตะพาบน้ำ ถือว่าเป็นอาชีพเสริมเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี    ส่วนผู้สนใจต้องการเลี้ยงตะพาบน้ำก็สามารถมาศึกษาดูงานได้ เพราะตะพาบน้ำเลี้ยงไม่ยากอย่างที่คิด จนถึงปัจจุบันตนเลี้ยงตะพาบน้ำประสบผลสำเร็จมาแล้วกว่า 5 ปี